OBD II คืออะไร…

OBD  มาจากคำว่า On-board Diagnostic เป็นมาตรฐานที่กำหนดขี้นร่วมกันโดย SAE และ ISO ซึ่งกำหนดมาตรฐานวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางดิจิตอล ระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งบนรถยนต์ ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยไอเสีย (Emission) กับเครื่องสแกนข้อมูล ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ ตำแหน่งการติดตั้งรหัสบันทึกความบกพร่องที่ตรวจพบ (Malfunction Indicator Light : MIL) แล้วแสดงค่าออกมาให้คนขับหรือช่างได้รู้ถึงปัญหานั้น

ในปี 1988 The California Air Resources Board (CARB) ได้กำหนดความต้องการไว้ว่า รถยนต์ทุกคันต้องมีระบบที่สามารถแยกแยะปัญหาการขัดข้องที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยไอเสีย (emission system) และระบบควบคุมเครื่องยนต์ (powertrain system) ซึ่งเรียกว่าระบบ OBD I ในขณะเดียวกัน CARB ยังได้กำหนดมาตรฐาน OBD II ขึ้นมา และให้มีผลบังคับใช้กับรถยนต์ทุกคันในอเมริกา ตั้งแต่ปี 1996 เพื่อจะได้เป็นแนวทางใหม่ให้กับช่างในการแก้ปัญหา การซ่อมเครื่องยนต์ และระบบควบคุมการปล่อยไอเสีย

ส่วนที่เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ใช้รถยนต์หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการซ่อมรถยนค์ก็คือ การอ่านรหัสผิดพลาดที่ ECU(Electronic Control Unit กล่องเครื่อง หรือ กล่องcomputer)บันทึกไว้ และเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบผ่านทางไฟ Check Engine หรือ ใช้สำหรับอ่านค่าอินพุทจากเซ็นเซอร์หรือสถานะต่างๆแบบเรียลไทม์ที่ECU มองเห็นและใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจและใช้ควบคุมเครื่องยนต์เช่น ความเร็วรอบ ความเร็วของรถยนต์ โหลดของเครื่องยนต์อุณหภูมิเครื่องยนต์ อุณหภูมิอากาศ Fuel Trim สถานะของระบบควบคุม Open/Closed loop ออกซิเจนเซ็นเซอร์ และอื่นๆอีกมากมายเพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์อาการผิดปกติของเครื่องยนต์

ปัจจุบัน มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ ปลั๊ก OBD อันละไม่กี่ร้อยบาท สำหรับมาเสียบที่ช่อง OBD โดยมีความเชื่อว่า จะทำให้รถแรงขึ้น สามารถปรับแต่งรถได้ เพิ่มแรงม้าหรือแก้ไขข้อมูลผ่านช่องปลั๊ก OBD ได้เลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แค่การเสียบผลิตภัณฑ์ที่ว่าค้างเอาไว้ที่ช่องเทียบ OBD ไม่ได้ช่วยให้รถแรงขึ้นมาเลย เพราะว่าช่อง OBD เป็นแค่ช่องทางเชื่อมต่อข้อมูลและการแสดงผลเท่านั้น การอ่านค่าต่าง ๆ ก็ต้องมีเครื่องอ่านหรือคอมพิวเตอร์ที่สามารถอ่านค่าต่าง ๆ ได้โดยเฉพาะ ซึ่งการปรับแต่งที่ทำให้เครื่องยนต์แรงขึ้นนั้น ก็ไม่เกี่ยวข้องกับ OBD อยู่แล้ว ซึ่งหากต้องการปรับแต่งกันจริง ๆ จะต้องไปทำการปรับแต่งที่กล่อง ECU เท่านั้น ดังนั้นอย่าไปหลงเชื่อกันครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *